History

aboutus1

              หอสมุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 ห้องสมุดในขณะนั้นเป็นเพียงห้องเก็บหนังสือเล็ก ๆ มีเนื้อที่ 12 ตารางเมตร ให้ยืมหนังสือไปอ่านภายนอกห้องสมุดได้
 
              หอสมุดได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา เมื่อองค์การไชนาเมดิคัลบอร์ด ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการจัดตั้งหอสมุดให้ได้มาตรฐาน และให้งบประมาณจัดซื้อหนังสือ ตำรา และวารสารทางการแพทย์ ตามความต้องการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี จนถึงปีพ.ศ. 2518 นอกจากนี้หอสมุดยังได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตต่าง ๆ ได้บริจาควารสารทางการแพทย์ของประเทศนั้น ๆ และยังได้รับงบประมาณแผ่นดินรวมทั้งรายได้จากคณะฯ สมทบด้วย

              หอสมุดได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ทั้งด้านอาคารสถานที่ ทรัพยากรและบริการ โดยได้ย้ายห้องสมุดถึง 4 ครั้งเพื่อขยายพื้นที่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้รับงบประมาณแผ่นดินสร้างอาคารหอสมุดขึ้นโดยเฉพาะโดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ปัจจุบัน ชั้นที่ 1 เป็นห้องอ่านหนังสือ ตำรา วิทยานิพนธ์ สิ่งพิมพ์รัฐบาล จุลสาร เอกสารทางการแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง บริเวณชั้น 2 เป็นห้องคอมพิวเตอร์ และงานเทคโนโลยีของหอสมุด โดยขณะนั้น (ประมาณปี พ.ศ. 2530) หอสมุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นห้องสมุดทางการแพทย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้นำ CD-ROM Medline มาให้บริการ ปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา) เป็นห้องให้บริการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการสืบค้นข้อมูล และการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) สำหรับ คณาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน นิสิตปริญญาโท นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 (Extern) แพทย์หลักสูตรต่อยอด (Fellow) และยังมีคู่มือสำหรับช่วยในการสืบค้นข้อมูล เช่น INDEX MEDICUS ห้องวารสารฉบับปัจจุบัน ชั้นที่ 3 เป็นห้องให้บริการวารสารย้อนหลัง วารสารเย็บเล่ม และหนังสือ ตำราเก่าที่เก็บไว้เป็นเอกสารอ้างอิง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 1,730 ตารางเมตร มีที่นั่งอ่านประมาณ 250 ที่นั่ง (ปัจจุบันขนย้ายหนังสือเก่าไปเก็บไว้ที่ตึกพยาธิชั้น 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2547)
 
             พ.ศ. 2529 หอสมุดได้รับงบประมาณจากเงินทุนคณะต่อเติมอาคารชั้น 4 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแพทย์แนวใหม่ (PBL = Problem Base Learning) โดยจัดเป็นห้องให้บริการตำรา และบทเรียนประกอบการเรียน สมาคมศิษย์เก่าแพย์จุฬาฯ ห้องโสตทัศนศึกษา และห้องผลิตโปรแกรมบทเรียนช่วยสอนด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Assisted Instruction : CAI) เพื่อให้บริการสำหรับแพทย์ อาจารย์ นิสิตแพทย์ นิสิตโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท และนิสิตโครงการนวัตกรรมการศึกษาแพทยศาสตร์ ปัจจุบันหอสมุด มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 2,300 ตารางเมตร มีที่นั่งอ่านรวมทั้งสิ้นประมาณ 300 ที่นั่ง
 
              ปัจจุบันหน่วย CAI ได้ย้ายไปอยู่ที่ตึก อปร. ชั้น 8 และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ย้ายไปอยู่ที่ตึก อปร. ชั้น 6 ดังนั้นบริเวณชั้น 4 ของหอสมุดฯ จึงเป็นสถานที่ให้บริการศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Access Learning Center) สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 1 ใช้เพื่อทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งโครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่างสถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับหอสมุดฯ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ให้บริการด้านโสตทัศนูปกรณ์ และ โสตทัศนวัสดุด้านการแพทย์ แก่แพทย์ประจำบ้าน และนิสิตแพทย์ที่สนใจต้องการใช้ รวมทั้งเป็นห้องปฏิบัติงานของฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ และฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรสารนิเทศและทำรายการ
 
 
 
 

หัวหน้าหอสมุดคณะแพทยศาสตร์

 

ประธานกรรมการพัฒนาหอสมุดคณะฯ

พ.ศ. 2497 – 2504 เฉลิมวรรณ ชูทรัพย์    
พ.ศ. 2505 – 2539 นางจีระ อินทโกสุม    ศ. นพ. เสก อักษรานุเคราะห์
พ.ศ. 2540 – 2543 นางเพ็ญพิมล เชี่ยวนาวิน    รศ. นพ. สมศักดิ์ วรรธนภัฏ , รศ. พญ. ธาดา สืบหลินวงศ์
พ.ศ. 2544 – 2552 นางสาวกฤษณา มูลานนท์   นพ. กัมมันต์ พันธุมจินดา , รศ นพ. วันล่า กุลวิชิต
พ.ศ. 2553 – ปัจจุบัน นางสาวปรียาพร  ฤกษ์พินัย
  รศ นพ. วันล่า กุลวิชิต